สรุป Digital Matters 9 : “คิดแบบ Content Publisher เขาคิดกันอย่างไร?”

วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปงาน Digital Matters 9 ที่จัดโดย Thumbsup งานในครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “คิดแบบ Content Publisher เขาคิดกันอย่างไร?” โดยมี Content Creator 2 ท่านที่มาร่วมในงานสัมมนาคือ พี่เอ็ม ขจร เจียรนัยพานิชย์ (@Khajochi) ผู้ก่อตั้งเว็บ MacThai, MangoZero, ParentsOne กับเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard โดยมีพี่แบงค์ ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย (@charathbank) Content Portal Manager แห่ง LINE ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ผมเลยจะมาสรุปเนื้อหาแบบง่ายๆถึงสิ่งที่พูดกันบนเวทีแล้วกันครับ

ภาพรวมของอุตสาหกรรม Content

เรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั่นคือเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกของดิจิทัลและข้อมูล จนคนที่อยู่ในวงการสื่อมานานบางคนปรับตัวไม่ทัน สาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

Platfrom เดิมทีสื่อเคยมี Platfrom เป็นของตัวเอง โทรทัศน์ก็มีช่องเป็นของตัวเอง สิ่งพิมพ์ก็มีหัวเป็นของตัวเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป เนื่องจากการเกิด Platfrom ใหม่ที่ตัดตัวกลาง (Gate Keeper) ออกไป เช่น การเกิดขึ้นมาของ Facebook ที่เป็น Platform ขนาดใหญ่ หลายคนเข้ามาเสพ Content จาก Platform นี้เป็นส่วนใหญ่

Data ข้อมูลในโลกปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้นรวมถึงการมาของ Smartphone ทุกอย่างสามารถทำได้จากมือถือเพียงเครื่องเดียว

Access ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เสรีขึ้น และมีราคาที่ราคาถูกลง

จากสามปัจจัยนี้ทำให้วงการสื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในปัจจุบันสื่อของไทยเองก็ยังหาจุดที่สมดุลไม่ได้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหนต่อ รวมถึงการที่คนทั่วไปเริ่มที่จะเป็นสื่อเองเนื่องจากมีช่องทางที่จะสื่อสารสะดวกขึ้น สามารถนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่างลงใน Social Media ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว จุดนี้เองก็ถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับคนในยุคนี้กับการนำเสนอ Content ที่เปิดกว้างมากขึ้นไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกต่อไป

แนวความคิดของ Content Publisher

Content Publisher ที่ดีควรรู้จักสองอย่างคือรู้จักตัวเองและรู้จักกับผู้รับสาร

รู้จักตัวเอง รู้ว่าเราเป็นใคร ภาพลักษณ์ของเราเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร ถ้าเป็นสื่อออนไลน์ก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจสถิติ เข้าใจตัวเลขต่างๆ รวมถึงเข้าใจอัลกอริทึ่มในการแสดงผล โดยเฉพาะปัจจุบันสื่อออนไลน์คือสิ่งที่รวมสื่อหลายแขนงเข้าด้วยกันเป็น Mix Media ที่มีทั้งตัวอักษร ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว อยู่ในที่เดียวกัน

รู้จักผู้รับสาร รู้ว่าเค้าคือใคร สิ่งที่คนรับสารต้องการจาก Content คืออยากได้ความรู้ ความเข้าใจ ความบันเทิง และแรงบันดาลใจ ซึ่งสิ่งที่เราจะให้กับคนรับสารหลักๆคือการทำใน “สิ่งที่เค้าคาดหวัง” และจะยิ่งดีถ้าทำใน “สิ่งที่เค้าคาดไม่ถึง”

โดยที่แนวคิดในการสำเสนอ Content นั้นมี 2 ปัจจัยหลักที่จะสร้างความน่าสนใจ นั่นคือ

เรื่องดี หมายความว่ามีประเด็นที่จะสื่อสารได้ดี

เล่าดี หมายถึงการนำเสนอที่ดี สามารถดึงดูดผู้รับสารให้สนใจได้

การสร้างกระบวนความคิดสำหรับคนในองค์กร

The Standard

เชื่อมโยงกับแนวคิดในการนำเสนอ Content คือเรื่องดีและเล่าดี

เรื่องดี ต้องเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องนั้นดี มีความเก่งในเรื่องนั้นๆ มีความต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่นำเสนอ และต้อง “รู้เรื่องนำคนอ่าน”

เล่าดี การเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี มีวิธีนำเสนอและนำเสนอเก่ง

Mango Zero

วิธีการทำงานของ Mango Zero ทุกเช่าจะมีการประชุมกอง ดูว่าในแต่ละวันมีเรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้น อะไรที่กำลังเป็นประเด็นและอะไรที่น่าสนใจบ้าง หลังจากนั้นก็คัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจหยิบขึ้นมาเล่นในแต่ละวัน แต่ว่าประเด็นที่น่าสนใจก็ไม่ได้มีทุกวัน จึงมี Stock Content คือเนื้อหาที่สามารถหยิบมาเล่นช่วงไหนก็ได้ โดยช่วงที่รับสมัครงานจะให้แต่ละคนคิดประเด็นที่ตัวเองต้องรับผิดชอบมาคนละ 300 หัวข้อ ซึ่งพอเอาหัวข้อมารวมกันก็จะเป็นจำนวนที่มหาศาล เราก็จะมีประเด็นที่เป็น Stock Content อยู่เยอะ มีให้เลือกใช้ได้ตลอด และอีกอย่างคือทีมงานจะอยู่ในรูปแบบของ All in One ที่ทุกคนสามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ไปออกกอง เขียนข่าว ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ตัดต่อ ทุกอย่างครบจบในคนเดียว

การทำงานกับ Brand ในปัจจุบัน

ถ้าเทียบอดีตกับปัจจุบันค่อนข้างแตกต่างกัน Brand มีความเข้าใจเรื่องของสื่อออนไลน์มากขึ้น การทำงานเปลี่ยนไปเยอะ และต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย เพราะพฤติกรรมคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อก่อนคนรับสารอยู่ทางเดียว แต่ปัจจุบันมีการโต้ตอบไปมา จึงเป็นคำตอบว่าทำไมถึงมีจำนวนผู้ชม Facebook Live มากขึ้นและดูโทรทัศน์น้อยลง เพราะ Facebook Live มี Comment ที่สามารถอ่านความคิดเห็นของคนอื่นได้ เป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้วที่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

จากอดีตที่สื่อเป็นผู้ที่เลือกคนอยากอ่านหนังสือต้องไปแผงหนังสือ อยากฟังวิทยุต้องหมุนหาคลื่นเอง แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นผู้ถูกเลือก เพราะฉะนั้นต้องสร้างความโดดเด่นขึ้นมา และที่สำคัญคือคนบนโลกออนไลน์จะไม่ชอบโฆษณา เวลาเจอก็จะคอยกด Skip หนีไป ซึ่งโฆษณาในยุคนี้ก็ต้องมีความจริงใจ ต้องบอกตัวเองว่าเป็นโฆษณาไม่อย่างนั้นก็จะเปิดความรู้สึกในทางลบกับแบรนด์นั้นๆได้

แบรนด์ในปัจจุบันก็มีการปรับ Content ในแต่ละ Platfrom จากแต่ก่อน Content เดียวแล้วปล่อยไปทุกสื่อเหมือนๆกัน แต่ในปัจจุบันกลายเป็นไอเดียเดียวแต่หลาก Content เพราะในแต่ละที่จะมีวิธีการเล่าที่ไม่เหมือนกัน แต่ Content ตามที่ต่างๆก็ยังคงเล่นใน Kay Message เดียวกัน

โดยสรุปแล้วในปัจจุบันคนทำงานด้าน Content ก็ยังคงอยู่ได้ แต่เปลี่ยนที่ Platfrom ในอนาคตการนำเสนอจะมีวิธีการที่ล้ำขึ้น อาจจะมีการใช้ AI เข้ามาใช้งาน สุดท้ายคือเรื่องที่เล่านั้นไม่เปลี่ยน แค่เปลี่ยนที่วิธีการเล่าเท่านั้นเอง

ถ้าอยากฟังเต็มๆสามารถเข้าไปฟังได้ในคลิปข้างล่างเลยครับ ขอบคุณงานดีๆแบบนี้จาก Thumbsup ด้วยนะครับ

https://www.facebook.com/thumbsupth/videos/1731610876862879/